top of page

สัมผัสไทย ให้ชุมชนเล่าเรื่อง

ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส

About

ประวัติความเป็นมาของชุมชน

          อำเภอสุคิริน เดิมเคยเป็นกิ่งอำเภอหนึ่งที่ได้จัดตั้งขึ้นก่อนปี พ.ศ.2474 ชื่อ "กิ่งอำเภอปาโจ" ขึ้นกับอำเภอโต๊ะโม๊ะ (อำเภอแว้งในปัจจุบัน) ชาวฝรั่งเศสได้รับสัมปทานการทำเหมืองแร่ทองคำที่บริเวณภูเขาลีซอ (ภูเขาโต๊ะโม๊ะปัจจุบัน) ซึ่งในขณะนั้นตั้งอยู่ที่ตำบลโต๊ะโม๊ะ ( ตำบลภูเขาทองในปัจจุบัน ) ราษฎรจึงได้อพยพเข้ามาทำงาน ที่เหมืองแร่ทองคำเป็นจำนวนมาก ทางราชการจึงได้จัดตั้งกิ่งอำเภอปาโจ ขึ้นในปี พ.ศ.2474 ภายหลังสงครามอินโดจีน เจ้าของเหมืองแร่ทองคำชาวฝรั่งเศส ได้หลบหนีภัยสงคราม ละทิ้งงานเหมืองแร่ทองคำ รัฐบาลไทยโดยกองโลหะกิจ กรมที่ดินและโลหะกิจ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้คุณพระอุดมธรณีศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำแทน ประมาณ 1 ปีเศษ ได้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง ปล้นสะดมทองคำและเกิดเหตุการณ์ไม่สงบทั่วไปในบริเวณเหมืองแร่ทองคำ แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบได้ ทางราชการจึงได้ล้มเลิกกิจการการทำเหมืองแร่ทองคำและมอบหมายให้นายสนาม เลิศวาโช(น้องชายคุณพระอุดม) เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินเครื่องจักรกล ราษฎรจึงได้พยายามกลับภูมิลำเนาเดิม กิ่งอำเภอปาโจจึงถูกยุบเลิกไป

          เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2506 คณะรัฐมนตรีได้มีมติโดยให้กรมประชาสงเคราะห์ จัดตั้งนิคมพัฒนาตนเองภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส เพื่ออพยพราษฎรที่มีฐานะยากจน และไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองจากท้องที่ต่าง ๆ เข้ามาประกอบอาชีพ เขตนิคมคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอสุคิรินและอำเภอจะแนะ เนื้อที่ประมาณ 510,000 ไร่ และได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง พัฒนาภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2517 โดยมีประชากรที่อพยพมาจากที่ต่าง ๆ ได้แก่ อพยพมาจาก ภาคกลางและภาคอีสาน คือ จังหวัด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และ พระนครศรีอยุธยา รัฐกลันตัน ,เขาศูนย์, เป็นสมาชิกโครงการพระราชดำริ,เป็นราษฎรเดิมในพื้นที่ และมาจากภาคใต้ทั่วไป คำว่า “ สุคิริน ” เป็นนามพระตำหนักที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานเมื่อครั้งเสด็จประทับแรมในพื้นที่นี้ เมื่อปี พ.ศ.2510 ซึ่งมีความหมายว่า “ พันธุ์ไม้อันเขียวชอุ่ม ” ซึ่งสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขา ป่าไม้ และพืชพันธ์ไม้นานาชนิด

bottom of page