top of page
Cacti

          เหมืองแร่ทองคำ เป็นเหมืองทองคำซึ่งสร้างก่อนปี พ.ศ.2474 โดยมีชาวฝรั่งเศสได้รับสัมปทานการทำเหมืองแร่ทองคำที่ภูเขาโต๊ะโม๊ะ เดิมเรียกว่า "ภูเขาลีซอ" ต่อมารัฐบาลไทยเข้าไปดำเนินการหลังจากเกิดสงครามอินโดจีน และปัจจุบันได้เลิกดำเนินกิจการแล้ว แต่ยังคงเหลือสิ่งก่อสร้าง เช่น บ้านพัก ที่ทำการเดิม อุโมงค์ 4 อุโมงค์หลัก และอุโมงค์ย่อยอีกเป็นจำนวนมาก บริเวณโดยรอบประกอบด้วยป่าไม้นานาชนิด มีลำธารน้อยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนียภาพในยามเช้าจะปรากฏทะเลหมอกเป็นลานกว้างสวยงาม

เหมืองแร่ทองคำ สุคิริน

กิจกรรมการร่อนทอง

          เมื่อว่างเว้นจากการทำงานอาชีพหลัก ชาวบ้านส่วนใหญ่ในตำบลภูเขาทอง จะร่อนทองในแม่น้ำสายบุรี เพื่อหารายได้ให้แก่ครอบครัว ซึ่งบางคนสร้างได้จากการร่อนทองเป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว นับว่าเป็นวิถีชีวิตที่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้และลงมือทำร่อนทองร่วมกับชาวบ้านได้ อุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการร่อนทองคือ “เรียง” ที่ทำจากไม้เนื้อแข็งโดยใช้ตอไม้ที่ตายแล้ว

 

          จุดชมวิวและจุดกางเต็นท์ภูศาลา เดิมเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ ตังอยู่บนยอดเขาซึ่งระหว่างทางจะต้องเดินผ่านสวนผลไม้ของชาวบ้านและผ่านเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ในยามเช้านักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับทะเลหมอกและชมทัศนียภาพของตำบลภูเขาทองในมุมสูง ส่วนในยามค่ำคืน นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับความสงบและนอนชมดาวบนท้องฟ้า

ภูศาลา

 

          ผาพบสน จุดชมวิวและเส้นทางการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ เป็นเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติสำหรับผู้รักในการท่องไพร และเรียนรู้ความอุดมสมบูรณ์ของป่าดิบชื้น เส้นทางการเดินป่าศึกษาธรรมชาติไปยังผาพบสน เริ่มต้นจากชุมชนแล้วเดินเท้าผ่านสวนยางพารา ลัดเลาะไปตามเนินเขาและเข้าสู่พื้นที่ป่า รวมระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร จึงจำเป็นที่จะต้องไปค้างแรมในป่า เพื่อรอชมทะเลหมอกร้อยเกาะที่ผาพบสนในยามเช้า ระหว่างทางจะได้พบกับความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้ สัตว์ป่า และน้ำตกที่มีให้พบเห็นระหว่างทาง

ผาพบสน

ความงามของเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ

 

          กิจกรรมการล่องแก่งแม่น้ำสายบุรี ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของตำบลภูเขาทอง เนื่องจากตำบลภูเขาทองเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำสายบุรี ทำให้เกิดสายน้ำที่ไหลลงจากที่สูง คดเคี้ยวไปตามภูมิประเทศ ในบางที่เป็นโขดหิน ทำให้เป็นสายน้ำที่เหมาะแก่การทำกิจกรรมล่องแก่งเป็นอย่างยิ่ง เส้นทางการล่องแก่งในแม่น้ำสายบุรีมีระยะทางยาวถึง 7 กิโลเมตร ระหว่างทางจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตการร่อนทองของชาวบ้าน และความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ

กิจกรรมล่องแก่งแม่น้ำสายบุรี

          ต้นไม้ใหญ่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา เป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญของอำเภอสุคิรินและจังหวัดนราธิวาส เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เคยเสด็จประภาสเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2543 ความโดดเด่นของต้นกระพงยักษ์  คือขนาดที่ใหญ่โตถึง 27 คนโอบ อยู่ท่ามกลางผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ นักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปชื่นชมความงามของต้นกระพงยักษ์ จากจุดจอดรถใช้เวลาในการเดินเท้าเพียง 10 นาที

ต้นกระพงยักษ์

          วัดพระธาตุภูเขาทอง เป็นที่ตั้งอยู่ท้ายสุดของชายแดนประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ที่วัดพระธาตุภูเขาทองแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระบรทธาตุภูเขาทอง และเป็นจุดที่พัฒนาให้เป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว รวมถึงเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวจะได้ชมทัศนียภาพและนกเงือกได้ ระหว่างการเดินทางมายังวัดพระธาตุภูเขาทองจะพบกับจุดแสนไลค์ จุดชมวิวที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของตำบลภูเขาทอง

วัดพระธาตุภูเขาทอง

 

          สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่อยู่คู่กับพื้นที่ตำบลภูเขาทองมาพร้อม ๆ กับการทำเหมืองแร่ทองคำ เจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ คือองค์เทพธิดาแห่งท้องทะเล อีกชื่อหนึ่งคือ เจ้าแม่มาจูหรือเจ้าแม่ทับทิบ เป็นสถานที่สำคัญที่ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวมาเลย์เชื้อสายจีนให้ความเคารพนับถือ และในทุกวันที่ 23 เดือน 3 ตามปฏิทินจีน จะมีการจัดงานประเพณีเพื่อสักการะเจ้าแม่ เนื่องจากเช่อว่าเป็นวันที่ตรงกับวันเกิดของเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ

ศาลเจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ

 

          หลักหมุดที่แสดงแนวเขตระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวสามารถไปสัมผัสแผนดินปลายสุดของด้ามขวานไทย ตั้งอยู่ที่บ้านภูเขาทอง หมู่ที่ 2 ตำบลภูเขาทอง เป็นอีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายภาพเป็นที่ระลึก

หลักหมุดเขตแดนไทย - มาเลเซีย

 

          ชาวบ้านที่ตำบลภูเขาทอง ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยอีสานจากหลายจังหวัด ที่อพยพมาตั้งรกรากตามโครงการจัดตั้งนิคมพัฒนาตนเองภาคใต้ ทำให้ที่นี่ยังคงรูปแบบวัฒนธรรม วิถีชีวิต แบบชาวไทยอีสาน ที่สามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจน เช่น ภาษา งานประเพณีที่โดดเด่นอย่าง

งานบุญบั้งไฟ อาหาร การแสดง และดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้การทำพิณหัวนกเงือก เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานที่ผสมผสานกับสัตว์ป่าในผืนป่าฮาลาบาลา และการแสดงรำร่อนทองของน้อง ๆ เยาวชนที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ขอวชาวอีสานในดินแดนภูเขาทอง

วัฒนธรรมชาวอีสานที่ปลายด้ามขวาน

bottom of page